วันอาทิตย์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2555

พระโคนสมอ เนื้อดิน

ถ่ายจากองค์จริง

พระโคนสมอ เนื้อดินเผากรุพิษณุโลก
ในวงการพระเราต่างกล่าวขวัญยกย่องกันเป็นเสียงเดียวว่า “พระสมเด็จวัดระฆังฯ” ทรงสี่เหลี่ยมชิ้นฟัก ที่สร้างและพุทธาภิเษกโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหฺมรํสี) คือ “จักรพรรดิแห่งพระเครื่องฯ” แต่ถ้าจะพูดถึง “พระเครื่องฯ แห่งองค์จักรพรรดิ” แล้วไซร้ บรรดานักนิยมสะสมหรือเซียนพระรุ่นเก่า เขาชี้นิ้วไปที่ “พระโคนสมอ” กันครับ

ทั้งนี้ ด้วยประวัติศาสตร์คำบอกเล่า (Oral History) ระบุว่า พระเครื่องฯ ชุดนี้ ถูกสร้างขึ้นโดยองค์บูรพกษัตริยาธิราชเจ้า ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และมิใช่ทรงสร้างเพื่อ “สืบอายุพระพุทธศาสนา” แต่เพียงอย่างเดียว เฉกเช่นพระเครื่องฯ ชุดอื่นๆ เท่านั้น ทว่า ยังทรงมีพระราชประสงค์เพื่อ “ป้องกันพระนคร” อีกประการหนึ่งด้วย โดยพระเครื่องฯ ชุดนี้ จะถูกนำไปเป็น “หนึ่งในเครื่องพิชัยยุทธ์” เมื่อพระองค์เสด็จฯ เป็นจอมทัพออกกระทำยุทธนาการปกบ้านป้องเมือง เรียกว่า พระโคนสมอนี้อยู่เคียงข้างองค์พระมหากษัตริย์มาตั้งแต่ครั้งบรรพกาลก็มิผิดแต่ประการใด นอกจากนี้ ยังทรงพระราชทานแจกจ่ายให้แก่บรรดาแม่ทัพนายกอง ตลอดจนทหารหาญ เช่น พวกกองอาทมาตทะลวงฟัน ก่อนออกไปปฏิบัติภารกิจเป็นทัพหน้าปะทะข้าศึก ตามความเชื่อในกระบวนพิชัยสงครามที่ว่าด้วยวิชา “แต่งคนออกศึก” หรือ “แต่งทัพจัดคน”

จากประวัติศาสตร์คำบอกเล่า ยังระบุด้วยว่า พระโคนสมอถูกสร้างขึ้นที่เมืองพิษณุโลก โดยการสร้าง ตลอดจนพิธีกรรมพุทธาภิเษกกระทำกันต่อหน้าพระพักตร์องค์หลวงพ่อพระพุทธชินราช และก็นำพิมพ์ทรงของหลวงพ่อพระพุทธชินราช ซึ่งมีองค์พระประทับนั่งอยู่ในซุ้มเรือนแก้วนั้นเอง มาเป็นต้นแบบในการจัดสร้าง แต่ได้ประยุกต์พิมพ์ทรงเป็นปางประจำวันต่างๆ ตามความเชื่อใน “คัมภีร์มหาทักษา” ที่ว่าด้วยเรื่องเทวดานพเคราะห์และกำลังวัน อันเป็นหนึ่งในวิชาโหราศาสตร์ที่นิยมกันสมัยกรุงศรีอยุธยา

สำหรับพิมพ์ทรงพุทธลักษณะของพระโคนสมอนั้น เป็นรูปองค์พระพุทธเจ้าประทับภายในซุ้มเรือนแก้วด้วยปางต่างๆ โดยภาพที่นำมาลงประกอบนี้ เป็นปางสมาธิ ซึ่งเป็นปางประจำวันพฤหัสบดี ประทับนั่งในซุ้มเรือนแก้ว เหนืออาสนะผ้าทิพย์ บนฐานทำเป็นรูปเหลี่ยมย่อมุม อันเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนกลางถึงตอนปลายโดยแท้

ทางด้านเนื้อหานั้น มีหลายประเภทด้วยกัน ทั้ง ดิน ชิน และว่าน โดยภาพที่นำมาลงประกอบนี้ เป็นเนื้อดิน

ด้านพระพุทธคุณนั้น มีประสบการณ์อย่างมากมายครบเครื่อง โดยเฉพาะเรื่องคงกระพันชาตรี แคล้วคลาด อันรวมไปถึงมหาอุด ตลอดจนป้องกันเขี้ยวงา นักเลงพระรุ่นเก่าต่างยกนิ้วให้ว่า อยู่ในระดับแถวหน้า และถ้าจะว่าไปแล้ว พระโคนสมอนี้เองที่ทำให้กรมหลวงชุมพรฯ ทรงเชื่อและเลื่อมใสในพระพุทธคุณ เพราะนำไปลองยิงด้วยพระแสงปืนแต่ไม่ออก แต่ที่สร้างชื่อมากที่สุด ก็เห็นจะเป็นเหตุการณ์ ทหารไทยได้รับเหรียญกล้าหาญบรอนซ์สตาร์เป็นเหรียญแรกในสมรภูมิสงครามเกาหลี หลังจากยิงสู้จนกระสุนหมด และได้ตัดสินใจวิ่งฝ่ากระสุนปืนกลหนัก เพื่อนำระเบิดขว้างใส่ข้าศึก โดยตนเองไม่ได้รับอันตราย ซึ่งทหารไทยนายนั้นรอดมาได้ เพราะมีพระโคนสมอชินเงินพิมพ์ห้อยพระบาทห้อยคอ เพียงองค์เดียวเท่านั้นเองครับ

จากคอลัมภ์เก่าอมตะ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ 13/6/50
สนใจเสนอต่อรองราคาได้ครับ 25000 บาท ติดต่อ
Email: snintro@gmail.com


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น